เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจนายหน้า ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

ขานรับ “บ้านเพื่อคนไทย” นายกบ้านจัดสรรมองโอกาสไทย ทำได้จริง 2568

สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

12 ธันวาคม 2567 รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร แถลงผลงานและนโยบายโอกาสไทย ทำได้จริง ปี 2568 ดังนั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “สุนทร สถาพร” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ช่วยกันมองในมุมสร้างสรรค์ต้อนรับปีใหม่ 2568 กับสิ่งที่ภาคเอกชนฝากความคาดหวังเพื่อนำมาสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ “นายกสุ่น-สุนทร สถาพร” แบ่งประเด็นนโยบายโอกาสไทย ทำได้จริง ปี 2568 เป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.นโยบายด้านเศรษฐกิจ 2.นโยบายด้านสังคม วัฒนธรรม สุขภาพ และการศึกษา 3.นโยบายด้านความมั่นคง และ 4.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเรื่องใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ ว่าด้วยนโยบาย “บ้านเพื่อคนไทย” 1 แสนหลัง บรรจุอยู่ในหมวดนโยบายด้านสังคม วัฒนธรรม สุขภาพ และการศึกษา

เชียร์นโยบาย ศก. 8 เรื่อง

โดย “สุนทร” ระบุว่า หลังจากฟังคำแถลงผลงานของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร เรื่องที่เห็นด้วยว่าดีและสนับสนุนให้ทำ เพียงแต่เพิ่มเติมขอให้รัฐบาลตั้งเป้าเป็นรูปธรรม เช่น เพิ่มหรือลดกี่เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน, ควรมีการกำหนดกรอบเวลาในการทำงาน ว่าภายในกี่เดือนกี่ปีจะถึง Milestone ไหน ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องที่อาจจะเห็นต่าง และนำเสนอเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐบาลพิจารณา ดังนี้

1.นโยบายด้านเศรษฐกิจ เมื่อลงรายละเอียดแล้วพบว่ามี 8 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.1 “การแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง” เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ควรส่งสัญญาณให้เน้นการใช้แรงงาน Labor Intensive ขุดดินขายดิน มุมที่มองต่างคือ อาจมีกิจกรรมที่สามารถสนับสนุนประชาชนมีเวลาไปคิด และสร้างผลผลิตอย่างอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่าค่าแรงรายวันได้

1.2 “ทลายทุนผูกขาด” รัฐบาลกำลังจะลดขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกข้าว ไม่ต้องมีสต๊อก 500 ตัน เป็นเรื่องที่ดี เพราะคลังสินค้าขนาดเล็กและขนาดกลางได้มีโอกาสเติบโต 1.3 เรื่องค่าพลังงาน-ค่าไฟ ด้วยการรื้อโครงสร้างพลังงานเพื่อให้ราคาพลังงานถูกลง แน่นอนว่าให้คะแนนเป็นนโยบายที่ดี

1.4 “นำธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ” เป็นนโยบายที่ดี ข้อเสนอแนะคือควรให้แรงจูงใจทางภาษีอย่างเพียงพอ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการสมัครใจเข้าระบบอย่างถูกต้อง 1.5 “ครัวไทยสู่ครัวโลก-โลจิสติกส์-ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นนโยบายที่ดี เป็นการสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมรัฐบาลควรมีแผนส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพิ่มมูลค่าสินค้ากลุ่มอาหาร และยารักษาโรค Brand ไทยด้วย

1.6 “เติมทุนหมู่บ้าน SML” เป็นนโยบายที่ดี สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ที่สำคัญ รัฐบาลพึงระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายการแจกเงินเพื่อการบริโภค โดยอาจจะรวมอยู่ในโครงการ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

1.7 “แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2” สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ Digital Wallet สำหรับบุคคลทั่วไป มองมุมต่างว่าควรใช้งบประมาณเพื่อให้ประชาชนพัฒนาตนเอง การวิจัย และการพัฒนา การเพิ่มผลผลิต มากกว่าการกระตุ้นให้ประชาชนบริโภค ในขณะที่การสื่อสารกับประชาชนผ่านระบบดิจิทัล จะพบว่ามี App เดิมจากรัฐบาลก่อน ๆ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องลงทุน App ใหม่ และ 1.8 “สุราชุมชน” มองมุมต่างเห็นว่าควรทบทวน เพราะผลกระทบทางสังคมด้านสุขภาพมีสูง คล้ายกับนโยบายกัญชาเสรี

บ้านเพื่อคนไทยต้องทำให้ครบ

2.นโยบายด้านสังคม วัฒนธรรม สุขภาพ และการศึกษา พบว่ามี 5 เรื่อง ดังนี้

2.1 “บ้านเพื่อคนไทย” รูปแบบเป็นคอนโดมิเนียม พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง มีเวลาผ่อน 30 ปี แต่ได้สิทธิพักอาศัย 99 ปี ในอัตราการผ่อนเดือนละ 4,000 บาท เป็นนโยบายที่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ เพียงแต่มีข้อควรระวังเรื่องความโปร่งใส, การควบคุมคุณภาพที่อยู่อาศัยให้ได้มาตรฐาน, แต่ละชุมชนควรมีกลไกดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ควรปล่อยให้พื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดเป็นภาระท้องถิ่น เพราะจะกลายเป็นภาระรัฐต้องจัดงบประมาณเข้าไปดูแล

2.2 “ODOS-หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” ด้วยการให้ทุนเรียนฟรีระดับปริญญาตรี-1 ทุน 1 ซัมเมอร์แคมป์ต่างประเทศ-โรงเรียน 2 ภาษา มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรใช้วิธีสร้างครูเก่งดีกว่า ส่วนทุนการศึกษานักเรียน ควรดึง Scholarship จากการที่ไทยมีเมืองพี่เมืองน้องกับต่างประเทศ ในรูปนักเรียนแลกเปลี่ยน รวมทั้งใช้
งบประมาณในการปั้นพื้นฐานการเรียนให้เด็กไทยส่วนใหญ่มีมาตรฐานสูงขึ้น เพื่อเป็นการกระจายโอกาสได้อย่างทั่วถึง

2.3 “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เห็นด้วยอย่างแน่นอนสำหรับเรื่องใดที่ลดค่าครองชีพได้ อย่างไรก็ตาม มองต่างมุมในการซื้อกิจการกลับมาเป็นของรัฐบริหาร เนื่องจากในอดีตมีบทเรียนที่รัฐวิสาหกิจหลายประเภทขาดทุน ยกเว้นกิจการที่มีการผูกขาด แต่ถ้าไม่สามารถบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ก็สร้างปัญหาค่าบริการประชาชนแพงขึ้นอยู่ดี

2.4 “แก้ปัญหายาเสพติด” มีการทำแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแส สร้างอาชีพให้คนเลิกยา เชียร์เต็มที่ และควรส่งเสริมต้นทางสถาบันครอบครัวให้เป็นภูมิคุ้มกันของลูกหลานเพิ่มขึ้นด้วย

2.5 “แก้ฝุ่น PM 2.5” ด้วยการไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านที่เผา และควบคุมการเผาอ้อย เป็นเรื่องที่ดี ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพคนไทยจากมลพิษฝุ่นโดยตรง แต่ต้องให้ทางออกจูงใจแก่เกษตรกร และมีการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศ

ใช้โครงสร้างภาษีแก้เหลื่อมล้ำ

3.นโยบายด้านความมั่นคง พบว่าไม่มีแจ้งนโยบายด้านความมั่นคง กฎหมาย การปกครอง รัฐธรรมนูญที่ทำให้คัดกรองคนดีมีประสิทธิภาพเข้าสู่ระบบการเมือง หรือนโยบายด้านปราบปรามคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด

และ 4.นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่ามีเรื่อง Future Investment ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น AI Hub-ส่งคนเรียน AI 280,000 คนใน 5 ปี-อุตสาหกรรม EV และ Semiconductor-พลังงานสีเขียวแข่งขันได้ เป็นนโยบายที่ดีทั้งสิ้น สอดคล้องกับทิศทางโลก และช่วยพัฒนาทักษะคนไทย เพียงแต่ต้องประเมินความพร้อมของบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน

ขณะเดียวกัน “สุนทร” ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ควรใช้ช่วงเวลาที่รัฐบาลมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา เดินหน้าทำนโยบายระดับยุทธศาสตร์มากกว่านี้ อาทิ “ยุทธศาสตร์เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ” ด้วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่จะสร้างอาชีพ และรายได้ประชาชาติในอนาคต, ยกระดับการศึกษา Upskill คน และ Infrastructure ของประเทศ

“การจัดสรรงบประมาณ” เพื่อการพัฒนาในระยะยาวและการปรับโครงสร้างภาษีลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยโครงสร้างภาษี Work VS Wealth (รายได้จากการทำงานเสียภาษีต่ำ VS รายได้จากความมั่งคั่งเสียภาษีสูง)

“เรื่องเร่งด่วน” นอกจากการแก้หนี้ซึ่งมีทิศทางที่ดีแล้ว ควรหาทางลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน อาทิ ปีใหม่ 2568 นี้กำลังจะมีการประกาศปรับขึ้นค่าแรงพร้อมกัน 400 บาททั่วประเทศ มองว่าผลดีตกอยู่กับแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย ควรให้แต่ละพื้นที่พิจารณา ขึ้นตามความพร้อม ตามหลักกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ธุรกิจ SMEs ที่กำลังจะฟื้นจะไปต่อไม่ไหว เป็นต้น

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในภาพรวม รัฐบาลควรเน้นการติดตามผล และสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการแต่ละโครงการ

อ่านข่าวต้นฉบับ: ขานรับ “บ้านเพื่อคนไทย” นายกบ้านจัดสรรมองโอกาสไทย ทำได้จริง 2568