เทศกาลปีเก่าไปปีใหม่มา เป็นเวลามองหาเทรนด์ใหม่ ๆ ของปีใหม่ 2568
โดย “ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ LWS บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN นำเสนอ 3 เทรนด์สำคัญในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยปี 2568 อย่างน่าสนใจ ดังนี้
“สุขภาวะที่ดี” Well-Topia
1.การพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงสุขภาวะที่ดี (Well-Topia)
เป็นแนวทางในการพัฒนาโดยคำนึงถึงการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาวะที่ดี ทั้งการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการสร้างชุมชน (Community) ตอบโจทย์การอยู่อาศัยรวมกันของคนทุกวัย โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด “สูงวัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี”
ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ, สวนขนาดเล็ก (Pocket Park), พื้นที่พักผ่อนของผู้สูงวัย (Senior Playground), ใกล้แหล่งร้านค้าสะดวกต่อการเดินทาง, มี AI ช่วยตรวจสอบความปลอดภัยในเส้นทางการเดินทาง และมีบริการทางการแพทย์ที่รอบด้าน
แน่นอนว่าต้องมีการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยที่ทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเทคโนโลยี แบบ 24 ชั่วโมงใน 7 วัน และออกแบบพื้นที่ส่วนกลางที่ตอบโจทย์กับคนทุกเพศทุกวัย ตอบโจทย์กับสังคมที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการอยู่อาศัยแบบ 360 องศา
“ออกแบบดี” Univerdal Design
2.การออกแบบสำหรับคนทุกวัยเพื่อความยั่งยืนในการอยู่อาศัย (Universal Design for Sustainable Living)
ปัจจุบันโจทย์ความต้องการที่อยู่อาศัยเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่จะต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคนทุกเพศทุกวัย ให้สามารถอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างป่าในเมือง (Urban Forest), อาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, แหล่งพลังงานสะอาด และกลยุทธ์การลดขยะ การเกษตรในเมือง และสวนชุมชนจะกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น
รวมถึงการนำธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่อยู่อาศัย เช่น การใช้พืชประดับ การออกแบบให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาได้มากขึ้น ทำให้ผู้คนรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดย Biodiversity Net Gain คือการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแนวทางใหม่ที่ผสมการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในขณะเดียวกัน พื้นที่ใช้งานในแต่ละพื้นที่ต้องมีความยืดหยุ่น และหลากหลาย (Multifunctional Spaces) เช่น ห้องทำงานปรับเป็นห้องนอน, พื้นที่กลางแจ้งใช้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ได้,
มีความยืดหยุ่นของเวลาใช้งาน เช่น Fitness และ Coworking 24 ชั่วโมง, การออกแบบให้อยู่ร่วมกันได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง สนองต่อโจทย์ยุค Pet-Parent ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี+เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
3.การออกแบบโดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Technology &
Environment)
สืบเนื่องจากผู้คนให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น ที่สำคัญต้องเลือกเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ในภาวะที่ไทยกำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา ในปี 2570
ทำให้ดีเวลอปเปอร์ต้องคำนึงถึงการออกแบบ การเลือกวัสดุ การก่อสร้าง รวมไปถึงการอยู่อาศัยที่ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดปริมาณขยะในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน
อาทิ การออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร การเลือกวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานมาใช้ ทั้งการใช้พลังงานโซลาร์ในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว, ติดตั้งจุด EV Charger การมีจุดคัดแยกขยะ เป็นต้น
ทั้งนี้ LWS สำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2567 จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 670 คน พบว่าผู้สนใจซื้อคอนโดมิเนียมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สัดส่วน 38% ต้องการให้มีการคัดแยกขยะ, สัดส่วน 32% ต้องการให้มี Solar Cell ในพื้นที่ส่วนกลาง, การนำเทคโนโลยี IOT เพื่อผู้สูงอายุมาใช้ อาทิ Home Automation, ระบบแจ้งเตือน, ระบบกล้อง ฯลฯ
“ทั้ง 3 เมกะเทรนด์เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2567 และมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 ซึ่ง LWS มั่นใจว่าผู้ประกอบการอสังหาฯที่ปรับตัวได้ก่อน จะสามารถขึ้นไปอยู่เหนือคลื่นของการเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ”
อ่านข่าวต้นฉบับ: ส่องเทรนด์อสังหาฯ 2568 ครบเครื่องสุขภาวะดี-ออกแบบดี-สิ่งแวดล้อมดี