เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจนายหน้า ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

เมกะโปรเจ็กต์รัฐ-เอกชนบูมภูเก็ต การลงทุนก้าวสำคัญเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

จังหวัดภูเก็ตกำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่อนาคต จากการเป็นเดสติเนชั่นด้านการท่องเที่ยวและด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายเร่งรัดลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ครบถ้วนทั้งทางบก-ราง-น้ำ-อากาศ ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมโครงการลงทุนโดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มีดังนี้

ลงทุนตัดถนน-ทางด่วนใหม่

ระบบถนนและทางด่วน โดย “กรมทางหลวง” มีแผนก่อสร้างโครงการสำคัญหลายโครงการ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางจราจรและแก้ปัญหาความแออัดในพื้นที่ ได้แก่ 1.ขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ รูปแบบเป็นการขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทั้งสร้างสะพานและจุดกลับรถใต้สะพาน ระยะทาง 4.55 กิโลเมตร วงเงิน 650 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2567 กำหนดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2569

2.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองช่วง บ.เมืองใหม่-สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต รูปแบบเป็นการสร้างถนนใหม่ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 1.95 กิโลเมตร พร้อมทางแยก

ต่างระดับ วงเงิน 1,300 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินและของบประมาณ ตามแผนเสนอขอจัดสรรงบประมาณในปี 2568

3.ทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.402 กับ ทล.4027 และ ทล.4025 รูปแบบก่อสร้างทางลอดบริเวณแยกท่าเรือ กม. 34+680 (ทล.402) วงเงิน 2,380 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้รับการเสนอให้ยกเลิกเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ถัดมาเป็นโครงการของ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” มีแผนพัฒนาทางพิเศษ 2 โครงการสำคัญ คือ ทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 14,670 ล้านบาท กับสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ วงเงิน 42,633 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นทางพิเศษสายแรกของไทยที่มีอุโมงค์ลอดแนวเขา

ทั้งนี้ มีผลศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 24.63% และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 1.53% โดยโครงการอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ ทั้งนี้ กทพ.อาจลงทุนก่อสร้างเอง เนื่องจากไม่มีเอกชนสนใจลงทุน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2571

สร้างใหม่ “สนามบินอันดามัน”

ด้านระบบอากาศ “ทอท.-บมจ.ท่าอากาศยานไทย” มีแผนเข้าคิวลงทุนพัฒนาสนามบิน 3 โครงการ ได้แก่

1.“ขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2” เพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสาร 73,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 18 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 12.5 ล้านคนต่อปี และรองรับ 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงิน 6,211 ล้านบาท เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบในเดือนธันวาคม 2568 ตามแผนคาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2569 และเปิดให้บริการปี 2572

2.“สนามบินน้ำ” (Water Aerodrome) สำหรับเป็นที่ขึ้น-ลงเครื่องบินในทะเล (Seaplane Terminal) ภายในสนามบินภูเก็ต ศึกษาเชื่อมการเดินทาง 3 เส้นทาง ไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม “สมุย พัทยา หัวหิน” ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดโครงการ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามแผนคาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2568

3.“สนามบินอันดามัน” รูปแบบก่อสร้างสนามบินใหม่บนพื้นที่ 7,300 ไร่ ที่ ต.โคกกลอย จ.พังงา เงินลงทุน 80,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบิน 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง พร้อมทั้งจัดระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมแบบไร้รอยต่อระหว่างสนามบินภูเก็ต กับสนามบินอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างกัน 23.4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 26 นาที ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าโครงการ ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 กำหนดเปิดให้บริการปี 2573-2574

สร้างระบบราง 58 กิโลเมตร

ด้านระบบรางโดย “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” วางแผนพัฒนารถไฟฟ้าสายแรกของภูเก็ต เส้นทางสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร วงเงิน 35,350.20 ล้านบาท รูปแบบมีอย่างน้อย 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) 2.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Rubber-tyred Tram) และ 3.ระบบรถรางล้อยางแบบไม่มี Guide Rail (Automated Rapid Transit : ART)

อัพเดตโครงการ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานผลการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ตามแผนคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดบริการปี 2574

เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐทั้งหมดนี้ ในอนาคตเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทางและการคมนาคม และสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของจังหวัดภูเก็ตในการพัฒนาเศรษฐกิจ และรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคตอย่างยั่งยืน

รพ.บำรุงราษฎร์-บีดีเอ็มเอสบูมฮับเมดิคอล

ด้านการลงทุนภาคเอกชนพบว่า มีการหลั่งไหลเข้าพื้นที่ภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูเก็ตให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และทำให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก เพิ่มเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก รวมทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการระดับแนวหน้าของโลกมาเสริมสร้างศักยภาพให้กับภูเก็ตในทุกด้าน

โดยมีการลงทุนที่โดดเด่น คือ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูเก็ต” ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 16.55 ไร่ ใกล้สนามกอล์ฟบลู แคนยอน ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ตเพียง 3 กิโลเมตร มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2569 ออกแบบเป็นโรงพยาบาลบูติคขนาด 150 เตียง พร้อมศูนย์วินิจฉัยโรคขั้นสูงและศูนย์การชะลอวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 4,300 ล้านบาท ในอนาคตอันใกล้จะเป็นโครงการที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภูเก็ตในฐานะศูนย์สุขภาพระดับโลก

นอกจากนี้ ภูเก็ตยังได้ต้อนรับการขยายสาขาของ “คลินิก ลา แพรรี-Clinique La Prairie” ซึ่งเป็นคลินิกความงามระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ โดยเปิดสาขาที่ 2 ในประเทศไทยที่ภูเก็ต สะท้อนถึงความนิยมในภูเก็ตในฐานะจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพและความงามที่ไม่เป็นสองรองใคร

ขณะที่ “บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก” ศูนย์การแพทย์ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ เพิ่งจะเปิดศูนย์เวลเนสระดับ 6 ดาวในภูเก็ต เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางของการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่มีมาตรฐานสูงระดับสากล

ขณะเดียวกัน ภูเก็ตยังได้รับการพัฒนาในด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์อีกด้วย โดยมีโรงเรียนนานาชาติ 14 แห่งที่เปิดสอนในภูเก็ต รวมถึงการพัฒนาท่าเรือซูเปอร์ยอชต์ถึง 4 แห่ง ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวทางทะเล

SCB EIC ชี้ 4 ธุรกิจตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

ข้อมูลของ SCB EIC คาดการณ์ 4 ธุรกิจรับอานิสงส์จากภาวะบูมของจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นเดสติเนชั่นด้านการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก ประกอบด้วย

1.โรงแรมและร้านอาหาร พบว่ามีการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะราคาห้องพักที่อยู่ในระดับสูง

2.อสังหาริมทรัพย์ จากปัจจัยที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวรัสเซียที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีการอพยพย้ายเข้ามาอาศัยในจังหวัดภูเก็ตมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในภูเก็ตเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และทำให้การโอนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) เติบโตถึง 16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว ที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนนานาชาติจะเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ

3.เฮลท์แคร์ โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในปี 2566 มีรายได้เติบโตมากกว่าปี 2562 (ยุคก่อนโควิด) จากการที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและพักอาศัยในระยะยาวมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มกำลังซื้อศักยภาพสูง ที่ให้ความนิยมเดินทางมาพักผ่อนและมีบ้านหลังที่ 2 ในภูเก็ต เป็นจำนวนมากในขณะนี้

4.โรงเรียนนานาชาติได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มชาวต่างชาติเข้ามาใช้ชีวิตมากขึ้น ทั้งชาวรัสเซีย จีน ยุโรป รวมถึงกลุ่มเซเลบริตี้คนไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้ความต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนจากภาคเอกชนไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจภูเก็ต แต่ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับจังหวัดภูเก็ตในฐานะเมืองที่มีศักยภาพการแข่งขันในระดับโลก ทั้งในด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ การศึกษา และบริการ ที่นำเสนอคุณภาพและมาตรฐานไม่เป็นรองใคร

อ่านข่าวต้นฉบับ: เมกะโปรเจ็กต์รัฐ-เอกชนบูมภูเก็ต การลงทุนก้าวสำคัญเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน