ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทำให้หลักสูตร IMET MAX ที่สานต่อการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ก้าวสู่ปีที่ 7 เสริมทัพอุทยานผู้นำ พัฒนา “คนดี-คนเก่ง” สู่สังคมไทยที่ยั่งยืน
หลังจากโครงการ “IMET MAX” ประสบความสำเร็จจากการได้รับการตอบรับจากผู้อุทิศตนเข้ามาทำหน้าที่เมนเทอร์ (Mentor) และความสนใจจากผู้นำรุ่นใหม่ หรือเมนที (Mentee) อย่างต่อเนื่อง และได้ส่งต่อความดีด้วยโครงการนำร่องเพื่อตอบแทนสังคมไทยหลายต่อหลายโครงการ
อัพเดตล่าสุด มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย รหัสย่อ “IMET” เป็นองค์กรที่ไม่ได้หวังผลกำไร มุ่งพัฒนาผู้นำที่เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ เตรียมเปิดรับสมัครผู้นำรุ่นใหม่ในปี 2568 เข้าร่วมโครงการ “IMET MAX” เพื่อสร้างศูนย์รวมผู้นำของชาติ หรือ “อุทยานผู้นำ” พร้อมบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่พร้อมทั้งความดีและความเก่ง ตอบแทนคุณสู่สังคมไทย
โมเดลแชริ่ง “ช่วยคิด-ชวนคิด”
โครงการ IMET MAX เดินหน้าสู่ปีที่ 7 โดย “ธนพล ศิริธนชัย” กรรมการมูลนิธิ IMET และประธานโครงการ IMET MAX มองว่า เมื่อผู้นำเติบโตขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง ย่อมมีคำถามและเผชิญปัญหาหลากหลายรูปแบบทั้งปัญหาส่วนตัว งาน หรือแนวคิดในการใช้ชีวิต ทำให้ต้องการกลไกที่ช่วยเป็นเข็มทิศ เปิดแนวคิดให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้
ซึ่งกลไกสำคัญคือ กระบวนการเรียนรู้แบบ Mentoring หรือ “กระบวนการช่วยคิด และชวนคิด” ผ่านการตั้งคำถาม อันเป็นกระบวนการเสริมสร้างปัญญาด้วยการสร้างมุมมอง “สะท้อนย้อนคิด” (Reflection) ถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และประสบการณ์อันทรงคุณค่า เพื่อปลูกฝังผู้นำรุ่นใหม่ให้เป็นคนดี และคนเก่ง มองถึงการตอบแทนให้กับสังคม นั่นคือ มี Wisdom for Life and Social Values
โดยได้รับเกียรติจาก 12 ผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศ ที่อุทิศตนทำหน้าที่เมนเทอร์ (Mentor) ด้วยใจ โดยไม่รับผลตอบแทน เพื่อช่วยพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ หรือเมนที (Mentee) อย่างเต็มที่ ด้วยกระบวนการ Mentoring ในรูปแบบของ IMET MAX ที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินการในแต่ละรุ่น จนหลอมเป็นกระบวนการกระตุ้นความคิด พูดคุย ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนประสบการณ์
ปรุงด้วยใจเมนูซีซาร์สลัด
หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญที่สุด คือ กระบวนการที่เกี่ยวกับ “ใจ” และการสร้างพลังบวก อันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นรากฐานที่สนับสนุนให้ผู้นำรุ่นใหม่ฝ่าขีดจำกัดเดิม ก้าวไปสู่ผู้นำที่ดีและเก่ง พร้อม Pay it Forward ให้คนรอบข้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
โดย “เทวินทร์ วงศ์วานิช” รองประธานกรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเมนเทอร์ (Mentor) ของโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 6 กล่าวว่า การตอบรับเป็นเมนเทอร์ของโครงการ IMET MAX มาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ นั่นคือ หนึ่ง คำว่า “Pay it Forward” ของโครงการ ที่มุ่งมั่นให้ทุกคนได้ส่งต่อความดีให้ผู้อื่น ซึ่งได้ใจอย่างมาก และสอง คือ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำรุ่นใหม่
นอกจากนี้ คุณค่าของ IMET MAX ในฐานะเมนเทอร์เองก็ทำให้ได้เข้าใจวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ โดยในช่วงที่ได้ Mentoring กับเมนที พบว่า นอกจากทุกคนจะมีความเก่ง เชี่ยวชาญ และมีศักยภาพแล้ว ยังมีความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยเหลือสังคม สร้างความสงบสุขในวงกว้าง ทำให้มีความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความดีและความคิดสร้างสรรค์
“หากเปรียบผมเป็นเชฟทำอาหาร อุปกรณ์ของผมคงเป็นชามสลัดกับช้อนส้อม ส่วนผสมคือเมนทีแต่ละคนที่เต็มไปด้วยความเก่ง ความเชี่ยวชาญ และความดี หน้าที่ของผมคือการคลุกเคล้าให้ส่วนผสมเข้ากัน ด้วยการกระตุ้นคำถาม ชวนคิด และให้คำปรึกษา เพื่อให้ได้ ‘ซีซาร์สลัด’ ที่สมบูรณ์แบบ ซีซาร์หมายถึงความยิ่งใหญ่ของสลัด ที่ไม่เพียงผมจะรู้สึกว่าอร่อย แต่ทุกคนที่ได้สัมผัสจะรับรู้ได้ถึงความสด ความอร่อย และคุณค่าทางโภชนาการ” คุณเทวินทร์กล่าว
ถูกต้องทั้งความรู้+ความดีงาม
ผู้บริหารเซเลบริตี้สายยั่งยืน “เข็มอัปสร สิริสุขะ” หรือเชอรี่ ผู้ก่อตั้ง บริษัท สิริอัปสร จำกัด ในฐานะเมนทีรุ่นที่ 6 กล่าวว่า “สำหรับเชอรี่ การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะแวดล้อมในบริบทเดิมหรือองค์ประกอบใหม่ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโลกคนละใบ”
“เชอรี่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด สิ่งสำคัญคือการแสวงหาโอกาสและนำพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รายล้อมด้วยผู้คนที่ ‘ถูกต้อง’ ซึ่งคำว่า ‘ถูกต้อง’ ในมุมมองของเชอรี่หมายถึง การอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องทั้งในแง่ขององค์ความรู้และความดีงาม ซึ่งนั่นคือ ผู้ที่เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง”
ผู้นำที่ทั้งเก่งและดีในสังคม สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกมหาศาลต่อสังคม การมีโอกาสได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้นำที่ทั้งเก่งและดีอย่างใกล้ชิด ผ่านการพูดคุยที่อบอุ่น เป็นกันเอง และเต็มไปด้วยความเมตตาแบบพี่สอนน้อง ถือเป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก
ซึ่งโครงการ IMET MAX มอบโอกาสล้ำค่านี้ให้กับผู้นำรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดสรรอย่างพิถีพิถัน เพื่อสร้างอุทยานผู้นำที่ส่งต่อองค์ความรู้ ความดีงาม และเครือข่ายที่เข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพและมิตรภาพไปด้วยกัน ท่ามกลางบรรยากาศการเรียนรู้ที่อบอุ่น ปลอดภัย สนุกสนาน และสร้างสรรค์ในแบบครอบครัว IMET MAX
“เชอรี่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของคนกลุ่มนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยที่สอดคล้องไปกับ Wisdom for Life and Social Values ขอบคุณจริง ๆ ที่มีโครงการที่ดีแบบนี้ค่ะ” คำกล่าวทิ้งท้ายของเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ
12 CEO ระดับประเทศ รับบท Mentor
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นแหล่งชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ มีอยู่จริงในสังคมไทย ที่สำคัญไม่ได้เพิ่งทำ แต่ทำอย่างประสบความสำเร็จมาแล้วถึง 6 ปีเต็ม
โดยปีที่ 1-6 ในช่วงที่ผ่านมา “มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET-Institute for Management Education for Thailand Foundation) ได้สร้างอุทยานผู้นำผ่านโครงการ IMET MAX เปิดโอกาสการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับเมนเทอร์ (Mentor) และเมนที (Mentee) รวมแล้วกว่า 234 คน ขยายครอบครัว IMET MAX ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งต่อประโยชน์สู่สังคมในวงกว้าง
12 CEO ช่วยคิด-ชวนคิด
สำหรับโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 7 ได้รับเกียรติจาก 12 ผู้บริหารชั้นนำระดับประเทศที่ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม พร้อมใจกันมาร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) โดยจะมาให้คำชี้แนะ คำปรึกษา ช่วยคิด และชวนคิด รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ (Mentee) ให้เกิดการเรียนรู้ การพัฒนา และสามารถประยุกต์คุณค่าที่ตนได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและสังคม ดังนี้
1.“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
2.“จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
3.“รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์” คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.“เทวินทร์ วงศ์วานิช” รองประธานกรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
5.“บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
6.“พรรณี ชัยกุล” ประธานกรรมการ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
7.“วรรณิภา ภักดีบุตร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
8.“ดร.วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
9.“วิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท นันยางเท็กซ์ไทล์
10.“วิชัย เบญจรงคกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานบริหารกลุ่มเบญจจินดา
11.“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
และ 12.“สมประสงค์ บุญยะชัย” ประธานกรรมการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
เวทีผู้นำรุ่นใหม่ 35-45 ปี
สำหรับการเปิดรับสมัครเมนที (Mentee) โครงการ IMET MAX รุ่นที่ 7 เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 14 มกราคม 2568 จะคัดเลือกจากผู้นำรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 35-45 ปี เปิดกว้างต้อนรับให้มีความหลากหลายในกลุ่มอาชีพ ทั้งผู้นำธุรกิจ ทายาทธุรกิจ ข้าราชการ บุคลากรองค์กรอิสระ และผู้นำองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม
เบื้องต้น กำหนดคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.เป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูง สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมในวงกว้าง 2.เป็นคนดีที่มีคุณธรรมและจริยธรรม 3.ผู้สมัครมีคำถามสำคัญในชีวิตที่ยังไม่ได้รับคำตอบ และเชื่อว่ากระบวนการ Mentoring สามารถช่วยค้นหาคำตอบได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้าง “อุทยานผู้นำ” ที่มีทั้งความดีและความเก่ง ส่งต่อคุณค่าที่ดีสู่สังคมได้
ผู้ที่สนใจสมัครเป็นเมนที (Mentee) ในโครงการ IMET MAX สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.imet.or.th/imetmax โดยผู้สมัครไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด ทางมูลนิธิ IMET จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้-14 มกราคม 2568
อนึ่ง มูลนิธิ IMET เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งปี 2525 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นพัฒนาความสามารถด้านการบริหาร การจัดการ ผ่านการประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน สร้างขีดความสามารถให้กับผู้นำองค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีความเข้มแข็ง และมีการจัดการที่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์อย่างยั่งยืน
ส่วนโครงการ IMET MAX-IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders เป็นโครงการที่มุ่งเน้นส่งต่อปัญญา เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม (Wisdom for Life and Social Values) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 6 เปิดรับสมัครผู้นำรุ่นใหม่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “อุทยานผู้นำ”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนา ยกระดับ และหล่อหลอมผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง ให้เป็นผู้นำที่ดี และสามารถสร้างประโยชน์ที่มีคุณค่าให้กับตนเอง สังคม และประเทศ ผ่านการ Mentoring หรือ “กระบวนการช่วยคิด และชวนคิด” อันเป็นกระบวนการเสริมสร้างปัญญาด้วยการสร้างมุมมอง “สะท้อนย้อนคิด” (Reflection)
และการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด และประสบการณ์อันทรงคุณค่าที่ได้สะสมมายาวนานจากเมนเทอร์ (Mentor) ที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม มาสู่เมนที (Mentee) ซึ่งเป็นผู้บริหารชั้นนำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และตอบแทนสังคม
อ่านข่าวต้นฉบับ: ผู้นำรุ่นใหม่ IMET MAX #7 พัฒนาคนดี-คนเก่งสู่สังคมไทยที่ยั่งยืน