เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจนายหน้า ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

มติ ครม.ยกเว้นภาษีที่ดิน ‘พื้นที่สีเขียว’ แก้ปมท้องถิ่นใช้ดุลพินิจพร่ำเพรื่อ

ส่องมติ ครม.ออก พรฎ.เว้นภาษีที่ดิน 3 รายการ 1.โรงผลิตน้ำประปา 2.เขตทางรถไฟฟ้า 3.พื้นที่สีเขียว พบ 2 เรื่องแรก เก็บตกร่างกฎหมายให้ครบถ้วน ส่วน “พื้นที่สีเขียว” กระทบผู้ถือครองที่ดินป่าธรรมชาติ-ป่าชายเลน อปท.ตีความแตกต่างกัน บางแห่งพื้นที่เกษตรกรรม เสียภาษีล้านละ 100 บาท บางแห่งตีความเป็นที่ดินเปล่า เสียภาษีสูงสุดล้านละ 30,000 บาท 

จากกรณีเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สรุปสาระสำคัญ 3 รายการ ดังนี้

เก็บตกโรงผลิตน้ำประปา-เขตทางรถไฟฟ้า

1.โรงผลิตน้ำประปา ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% ให้แก่ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตน้ำประปาและโรงผลิตน้ำประปา รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำประปา โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

2.ทางรถไฟฟ้า สืบเนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการพัฒนารถไฟฟ้าจำนวน 14 เส้นทาง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟฟ้าเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐที่สำคัญ ซึ่งการบรรเทาภาระภาษีของทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับกิจการขนส่งทางรางประเภทอื่น

มติ ครม.จึงให้ความเห็นชอบแก้ไขปรับปรุงนิยามของคำว่า “ทางรถไฟฟ้า” โดยเพิ่มคำว่า “ห้องอุปกรณ์อาณัติสัญญาณภายในสถานี ห้องควบคุมระบบบังคับสัมพันธ์ภายในสถานี ห้องอุปกรณ์สื่อสารภายในสถานี และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟฟ้า” เพื่อให้ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

‘พื้นที่สีเขียว’ หนุนลดก๊าซเรือนกระจก-อุ้มป่าชายเลน

3.พื้นที่สีเขียว ประเด็นอยู่ที่ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง (ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ได้รับยกเว้นมูลค่า 50 ล้านบาทแรก และมีอัตราเสียภาษีที่ดินฯ เริ่มต้นล้านละ 100 บาท, ถ้าตีความเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า เสียภาษีแพงสุด เริ่มต้นล้านละ 3,000 บาท สูงสุดล้านละ 30,000 บาท)

จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวดังกล่าวมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการช่วยลดปัญหาการกัดเซาะดินและชายฝั่ง

มติ ครม. เห็นชอบให้ยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้

3.1 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า

3.2 เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

สภาหอฯ ขานรับยกเว้นภาษีพื้นที่สีเขียว

นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรมการ กลุ่มสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและตกแต่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีโรงผลิตน้ำประปา กับทางรถไฟฟ้า อาจเกิดจากการแก้ไขปัญหาที่มีการพิจารณาตกหล่นไปในตอนร่างกฎหมาย เมื่อบังคับใช้กฎหมายแล้วเห็นปัญหาก็มีการออกกฎหมายลูกมาแก้ไข

ส่วนกรณีพื้นที่สีเขียว เนื่องจากในแง่รัฐบาล และการที่ได้ไปบันทึกข้อตกลงกับประชาคมโลก ในเรื่องซีโร่คาร์บอน ความเป็นกลางทางคาร์บอน การลดโลกร้อน ลดก๊าซเรือนกระจก มีข้อดีอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นผลดีระยะยาวต่อประเทศและโลกใบนี้ด้วย เพราะสร้างแรงจูงใจเจ้าของที่ดินรกร้างว่าเปล่า หรือที่ดินที่ทิ้งไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตามข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็คือ หน่วยงานรัฐจะต้องหามาตรการหรือแนวทางที่ขั้นตอนไม่ยุ่งยากเกินไปในการขอหนังสือรับรองจากองค์การก๊าซเรือนกระจก เพราะต้องได้รับการรับรองว่าที่ดินดังกล่าวเข้าเกณฑ์ลดโลกร้อน

เกาถูกที่คัน-ลดปัญหา อปท.ใช้ดุลพินิจต่างกัน

แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินรายหนึ่ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับประเภทพื้นที่สีเขียวยังมีปัญหาการตีความที่แตกต่างกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนเพราะฐานภาษีไม่เท่ากัน

หากตีความประเภทเกษตรกรรม ฐานภาษีได้รับการยกเว้นมูลค่า 50 ล้านบาทแรก ถ้าเป็นเกษตรกรรายเล็กๆ ที่ดินมูลค่าไม่ถึงเกณฑ์ก็เท่ากับไม่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ แต่ถึงแม้จะต้องเสียภาษีก็มีฐานภาษีเริ่มต้นราคาถูกกล่าวคือ เริ่มต้น 0.01% หรือล้านละ 100 บาทเท่านั้น

แต่ถ้าหาก อปท.ตีความพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินเปล่า ฐานภาษีจะต้องจ่ายแพงที่สุด อัตราเริ่มต้น 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท ไปจนถึงแพงสุดถูกบังคับจ่ายที่ 3% หรือล้านละ 30,000 บาท

ยกตัวอย่าง การตีความป่าชายเลน ซึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมจังหวัด 3 สมุทร (สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม)​ เป็นจังหวัดชายเลนเหมือนกัน มี ‘ต้นจาก’ โดยธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงพบว่า บางจังหวัดตีความว่าต้นจากคือรกร้างว่างเปล่า ทั้งๆ ที่เจ้าของที่ดินมีการนำต้นจากไปตากแห้งแล้วนำมามุงหลังคา เป็นปกติที่ทำมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทาง อปท.มีการตีความว่าต้องรื้อต้นจาก ขุดบ่อเลี้ยงปลาไปเลย เพื่อไม่ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ทำให้สภาพธรรมชาติหายไปเลย

ขณะที่อีกจังหวัดตีความว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ จึงยกเว้นภาษีที่ดินฯ ให้ เป็นต้น

“มติ ครม.เรื่องยกเว้นภาษีที่ดินฯ ให้กับพื้นที่สีเขียวครั้งนี้ ใช้กลไกลดโลกร้อนหรือซีโร่คาร์บอน มาสนับสนุนให้กับพื้นที่ป่าชายเลน ขณะเดียวกันยังเป็นการแก้ปัญหา อปท.ตีความแตกต่างกัน ลดการใช้ดุลพินิของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งภาคเอกชนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง” แหล่งข่าวกล่าว

อ่านข่าวต้นฉบับ: มติ ครม.ยกเว้นภาษีที่ดิน ‘พื้นที่สีเขียว’ แก้ปมท้องถิ่นใช้ดุลพินิจพร่ำเพรื่อ