BKA-บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จ่อระดมทุน IPO 60 ล้านหุ้น รับดีมานด์บ้านมือสองฟื้น ชูจุดขายบ้านมือสองพร้อมตกแต่ง ลุยแพลตฟอร์ม “Property Tech” ดูบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์
นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านแต่ง “Flipping”) ซึ่งเป็นการฝากขายบ้านมือสองพร้อมกับการปรับปรุงซ่อมแซมก่อนขาย ให้มีสภาพใหม่ พร้อมอยู่อาศัย ด้วยการออกแบบที่สวยงาม งานซ่อมแซมที่มีคุณภาพ พร้อมรับประกันผลงานและให้บริการหลังการขาย
รวมทั้งดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการรับฝากขายบ้านมือสอง (ธุรกิจบ้านฝาก) และธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการ แก้ปัญหา ของผู้ที่อยากขายบ้าน แต่ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ประสบการณ์ในการเตรียมบ้านให้มีความพร้อม ในขณะเดียวกันต้องการช่วย ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลที่ดี ด้วยงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจซื้อขายบ้านมือสองในไทย
บริษัทดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ”เป็นผู้นำในธุรกิจบริการ ซื้อขายบ้านมือสอง และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน (NPA) ตกแต่งใหม่ในประเทศไทย” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสามารถให้บริการ การซื้อขายบ้านมือสอง และบริการรีโนเวตบ้านให้มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน ครอบคลุมในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานที่เป็นเลิศ การบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม และความพึงพอใจให้กับทั้งลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.“ธุรกิจบ้านแต่ง” ในวงการบ้านมือสองเรียกว่า “Flipping” เจ้าของบ้านมือสองจะทำสัญญาฝากขายบ้านกับบริษัท โดยยินยอมให้บริษัททำการปรับปรุงบ้าน โดยบริษัทจะวางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่เจ้าของบ้านก่อนเข้าปรับปรุงบ้าน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทั้งหมด
เมื่อบริษัทขายบ้านได้ เจ้าของบ้านจะได้รับเงินเฉพาะส่วนที่เป็นราคาขายบ้านตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับบริษัท ขณะที่บริษัทจะได้รับส่วนต่างที่เหลือของราคาที่ผู้ซื้อรับซื้อบ้านกับราคาขายที่เจ้าของบ้านได้รับ
2.“ธุรกิจบ้านฝาก” บริษัททำหน้าที่เป็นตัวแทนขายบ้านมือสองตามสภาพเดิม ที่เจ้าของบ้านนำมาฝากขายไว้ โดยมีรายได้จากค่านายหน้าตามที่ตกลงกันเมื่อขายบ้านหลังนั้นได้
และ 3. “ธุรกิจบ้านตัด” บริษัทซื้อบ้านมือสองมาทำการปรับปรุงเพื่อขาย ซึ่งได้มาจากการประมูลหรือซื้อโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์สิน โดยการทำธุรกิจบ้านตัดนี้ บริษัทจะรับซื้อบ้านมือสองเฉพาะเมื่อสามารถซื้อได้ในราคาที่ดีเท่านั้น เพื่อให้มีอัตรากำไรที่ดี
สำหรับแผนธุรกิจเพื่อการเติบโต มีกลยุทธ์สู่การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ ดังนี้
1.กลยุทธ์การสร้างตราสินค้า โดยมุ่งเน้นที่จะเป็นศูนย์รวมบ้านมือสองตกแต่งใหม่ พร้อมอยู่ภายใต้การให้ความสำคัญต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการทั้งก่อนและหลังการขาย เพื่อสร้างการจดจำและความแข็งแกร่งกับตราสินค้า
2.กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบ้านมือสองเพื่อนำมาปรับปรุงตกแต่งใหม่ รวมทั้งพิจารณารูปแบบบ้าน และการปรับปรุง ให้มีฟังก์ชั่น การใช้งานอย่างครบครัน ภายใต้แนวความคิดการใช้ชีวิตจริงของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
3.กลยุทธ์ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในด้านทำเลที่ตั้งและระดับราคา ให้ลูกค้ามีตัวเลือกจำนวนมากตามความต้องการที่หลากหลาย
4.กลยุทธ์การรับประกันบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ตามเงื่อนไขรายการรับประกันที่บริษัทกำหนด สูงสุดถึง 6 เดือน
และ 5.กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเนื้อหาข้อมูลที่สร้างความรู้และความน่าสนใจให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมือสอง และพัฒนาไปสู่การเป็นลูกค้าตัวจริงให้มากที่สุด
“ตลาดบ้านมือสองมีแนวโน้มการเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบของบ้านมือสองในทำเลเดียวกันกับบ้านโครงการใหม่ ที่มีราคาถูกกว่า และพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดของราคาที่ดินในทำเลที่มีศักยภาพ การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรง ทำให้ราคาบ้านโครงการใหม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีช่องว่างของราคา (Gap Price) ที่กว้างขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านมือสอง
ประกอบกับโครงการบ้านจัดสรรใหม่ ๆ มีทำเลที่ตั้งที่ไกลออกไป เนื่องจากที่ดินเปล่าผืนใหญ่ใกล้เมืองหาได้ยากขึ้น ในขณะที่บ้านมือสองส่วนใหญ่มีทำเลดี ราคาถูกคุ้มค่ากว่าบ้านโครงการใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น
โดยบริษัทเน้นการทำธุรกิจบ้านแต่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นบ้านมือสองตกแต่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการซื้อบ้านมาปรับปรุงเพื่อขาย (บ้านตัด) อีกทั้งบริษัทพิจารณาว่าตลาดยังมีศักยภาพการเติบโต และยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด
ในด้านภาพรวมตลาดบ้านมือสอง มีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ตัวเลขตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2567) พบการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยบ้านมือสองได้รับความนิยมสูงถึง 71% ของจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 52% ของมูลค่าการโอนรวม ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ดินและต้นทุนค่าก่อสร้าง ที่ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่บ้านมือสองมีราคาต่ำกว่าบ้านสร้างใหม่ ภายใต้ขนาดและทำเลเดียวกัน โดยราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่อยู่ที่ 4.87 ล้านบาท ขณะที่บ้านมือสองราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 2.16 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของตลาดบ้านมือสอง สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้
สุดท้าย นางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป หรือ BKA ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ต่อประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แล้ว
และอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
ปัจจุบัน BKA มีทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 210 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 75 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 150 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.57 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทวางแผนนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเพื่อขยายการเติบโตของบริษัท จากการขยายพอร์ตการให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้นเป็นหลัก
รวมถึงนำไปพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาฯ เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งผู้ต้องการซื้อและขายบ้านได้หลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการแนะนำบ้านให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์
นอกจากนี้ยังมีแผนชำระคืนเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่นทั้งจำนวน
อ่านข่าวต้นฉบับ: BKA เล็งเข้าตลาดหุ้น ตุนเงินลงทุนบุกตลาดบ้านมือสอง พ่วงตกแต่งใหม่พร้อมอยู่ปี’68