เราเป็นผู้นำด้านธุรกิจนายหน้า ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร

LPP แจ้งเกิดธุรกิจ รปภ. ‘LSS’ ปักธง Smart Security บ้าน-คอนโดฯ-โครงการ

โค้งท้ายปี 2567 ค่าย แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ LPN เปิดตัวเป็นทางการสำหรับบริษัทหลาน หรือบริษัทในเครือ LPP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ แอล.พี.เอ็น.อีกทอดหนึ่ง

หลังจากก่อนหน้านี้ กลุ่ม LPN มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ คำอธิบายคือเป็นธุรกิจดูแลบริการหลังการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการรับบริหารจัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร และนิติบุคคลคอนโดมิเนียม เพียงแต่ขอบเขตการรับงานซัพพอร์ตให้กับโครงการที่อยู่อาศัยในเครือ LPN เท่านั้น

จนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนนโยบายยกระดับงานบริการหลังการขายอสังหาฯ ด้วยการเปิดกว้างให้บริษัทลูก LPP ออกไปโลดแล่นรับงานบริหารนิติบุคคลนอกเครือ LPN ได้ ควบคู่กับการเติบโตขององค์กร LPP ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตอันใกล้นี้

โปรโมต “ธำรงค์พล แดงบุบผา”

หนึ่งในจิ๊กซอว์ธุรกิจสำคัญของพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ ก็คือธุรกิจรักษาความปลอดภัย จากเดิมที่ใช้วิธีจ้างเหมาเอาต์ซอร์ซ แต่ในเมื่อพอร์ตเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ การควบคุมความเสี่ยงของธุรกิจทั้งด้านขาดแคลนกำลังคน ประสิทธิภาพแรงงาน การพัฒนาความรู้ ความสามารถ และอื่น ๆ จำเป็นต้องทำเอง เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าโครงการ

จุดโฟกัสอยู่ที่มีการโปรโมตผู้บริหารลูกหม้อ “ธำรงค์พล แดงบุบผา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ LSS ผู้บริหารที่กล่าวได้ว่าสั่งสมประสบการณ์การทำงานทั้งชีวิตอยู่กับธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้แมเนจเมนต์ วันนี้ในฐานะผู้บริหารมืออาชีพอีกคนหนึ่งของวงการ เข้ามารับผิดชอบ LSS บริษัทในเครือ LPP อย่างเต็มตัว

โดย “สุรวุฒิ สุขเจริญสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPP-บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันธุรกิจรักษาความปลอดภัย มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เป็นไปตามการขยายตัวของดีมานด์ใช้บริการธุรกิจบริหารจัดการโครงการอสังหาฯ และอาคารเชิงพาณิชย์ ทั้งลูกค้าภาครัฐและเอกชน ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้าน และเทรนด์การใช้เทคโนโลยี AI รูปแบบ Smart Security เป็นตัวช่วยเพิ่มโอกาสธุรกิจรักษาความปลอดภัยมีการขยายตัวสูงขึ้น

“ที่ผ่านมา LPP ทำวิจัยความต้องการและความคาดหวังของลูกบ้านเพื่อพัฒนาและปรับปรุงบริการ พบว่าลูกบ้านให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับต้น ๆ คำว่าความปลอดภัยไม่ใช่แค่ความปลอดภัยในทรัพย์สิน หรือการทำร้ายร่างกาย แต่รวมไปถึงเหตุไฟไหม้ น้ำท่วมภายในอาคาร เหตุอุทกภัยที่ทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง LPP จึงได้ออกแบบงานบริการด้านความปลอดภัยภายใต้ LSS เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในเครือ LPP เมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยได้อย่างครอบคลุม”

สุรวุฒิ สุขเจริญสิน
สุรวุฒิ สุขเจริญสิน

อัพเดตล่าสุด ผลการดำเนินงานของ LSS ในปี 2567 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้อยู่ที่ 345 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 30% ของพอร์ตรายได้รวม LPP เติบโตอย่างน่าพอใจที่ 23% เทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้ 280 ล้านบาท แน่นอนว่าแผนการสร้างรายได้ในปี 2568 ตั้งเป้า 400 ล้านบาท เติบโต 10%

โดยความสำเร็จของ LSS ในวันนี้ เป็นส่วนผสมที่ลงตัวจากการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการดูแล ทั้งด้านความปลอดภัยทางกายภาพ การรักษามูลค่าโครงการผ่านกระบวนการ Property Continuity Plan เพื่อให้มีระยะเวลา Downtime ในการใช้พื้นที่น้อยที่สุดเมื่อเผชิญเหตุร้าย โดยเน้นฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด มีการวางแผน เตรียมตัว และซักซ้อม ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอาคาร ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการ Recover รวมถึงการมี Supplier ที่พร้อมเข้าซ่อมแซมในการกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว

เทรนด์ใหม่แห่งยุค เป็นเรื่องการปรับตัวนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาความปลอดภัยแบบ Real-Time เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ลดความสูญเสียและเสียหายให้แก่ผู้ใช้บริการได้มากขึ้น อาทิ Next Gen CCTV, AI, IOT ฯลฯ เป็นตัวช่วยทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจจับความผิดปกติ และระบบป้องกัน

ดูแลครบวงจร 200 กว่าโครงการ

ถัดมา “ธำรงค์พล แดงบุบผา” กรรมการผู้จัดการ LSS-บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน LSS มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานบริการ โดยได้พัฒนา Digital Platform และระบบ NFC Device (Near Field Communication) สำหรับจุดตรวจดูแลรักษาความปลอดภัยที่สามารถรายงานผลได้แบบ Real-Time

อีกทั้งยังมีระบบ Next Gen CCTV และ IOT ประสานการทำงานร่วมกันในจุดเสี่ยงที่สำคัญหรือจุดวิกฤต ที่ต้องการเฝ้าระวังแบบ 24/7 (24 ชั่วโมงใน 7 วัน) โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินแบบทันทีผ่าน “ศูนย์ปฏิบัติการเหตุฉุกเฉิน (Emergency Operations Center-EOC)” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจัดการเหตุฉุกเฉิน ประสานจัดการ และรวมศูนย์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยี Data Visualization ในรูปแบบการปฏิบัติงานแบบ Command Center ที่พร้อม Monitoring และแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน และจัดการเหตุฉุกเฉินตามระดับความสำคัญ (SLA)

พร้อมกับประสานกับทีมพันธมิตรรอบด้าน และหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยทุกการแจ้งเตือนจะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเหตุการณ์ ระงับเหตุ และปิดเคสทุกเคสได้ 100% จุดแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจ รปภ. ก็คือ LSS มีทีมงานที่มีพื้นฐานทางวิศวกรรม จึงสามารถช่วยให้การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ณ หน้างาน EOC ได้เป็นอย่างดี

นอกจากให้บริการด้านการดูแลความปลอดภัยแล้ว LSS ยังเปิดหน้างานให้การดูแลรักษาความสะอาด (Security & Cleaning Solutions) และบริการอื่น ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย (Soft Service) อาทิ การดูแลสวน งานรักษาความสะอาดเฉพาะด้าน อย่างการโรยตัวทำความสะอาดอาคาร เป็นต้น

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้บริการครอบคลุมทั้งโครงการที่อยู่อาศัย ออฟฟิศบิลดิ้งหรือสำนักงานให้เช่า ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน โรงงาน และหน่วยงานราชการ มีฐานลูกค้าในมือมากกว่า 200 โครงการ โดยรายได้ของ LSS แบ่งสัดส่วนออกเป็น บริการรักษาความปลอดภัย 68%, บริการดูแลรักษาความสะอาด 26% และบริการอื่น ๆ 6%

สร้างสมดุล “คน+เทคโนโลยี”

นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีในระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว บริษัทยังได้พัฒนาระบบ Cleaning Management System (CMS) เพื่ออัพเดตข้อมูลการย้ายเข้าและออกของผู้ป่วยใน และประสานไปยังหน่วยรักษาความสะอาดโดยอัตโนมัติ เพื่อการเข้าไปทำความสะอาดห้อง และเมื่อเสร็จงานระบบจะแจ้งว่าห้องพร้อมใช้ พยาบาลจะสามารถจัดสรรผู้ป่วยรายใหม่เข้าพักฟื้นได้ทันที เป็นผลให้ปัจจุบันมีลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาลมอบความไว้วางใจให้ LSS ได้ดูแล อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา และโรงพยาบาลกรุงเทพจอมเทียน

“โลกยุคใหม่ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในงานบริการอยู่มาก แต่หากขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจในงานบริการ และขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ก็อาจส่งผลให้การส่งมอบงานบริการไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ LSS จึงพยายามสร้างความสมดุลระหว่างคนกับเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วยกัน”

ยกตัวอย่าง งานบริการรักษาความปลอดภัยยังจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานจากทีมงานที่ได้รับการอบรม มีความชำนาญ และมีประสบการณ์ในการรับเหตุแจ้งเตือนและบริหารจัดการสถานการณ์ พร้อมเข้าสนับสนุนเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อควบคุมเหตุการณ์ให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

โดย LSS มีทีมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนกว่า 1,400 คน ที่ผ่านการอบรมตาม “หลักสูตรรักษาความปลอดภัย” มีใบอนุญาตตามกฎหมาย และการันตีได้รับการอบรมด้านทักษะการบริการมาเป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพและได้รับความประทับใจทั้งจากเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยและการใช้อาคารต่าง ๆ ให้ได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัยขั้นสูง ตลอดจนการส่งมอบงานบริการได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติของการใช้ชีวิต

“ค่าแรงขั้นต่ำ” ภัยคุกคามธุรกิจ

มีข้อสังเกตว่าธุรกิจ รปภ. เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานคนเข้มข้น หรือ Labor Intensive ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เรื่องเดียวกันนี้ “สุรวุฒิ” CEO LPP กล่าวว่า สัญญาจ้างบริษัท รปภ. ในโครงการอสังหาฯ จะแบ่งเป็น 2 กะ ทำงานกลางวันกับกลางคืน กะละ 12 ชั่วโมง เทียบกับการจ้างงานทั่วไปทำงานกะละ 8 ชั่วโมง ดังนั้น ค่าจ้าง รปภ. จำเป็นต้องสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ เพราะชั่วโมงทำงานต่อกะนานกว่า

ทั้งนี้ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 380 บาทในกรุงเทพฯ คำนวณสะท้อนออกมาเป็นค่าจ้าง รปภ. เฉลี่ยอยู่ที่ 24,000 บาท/กะ/คน ทุกครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายค่าแรงหาเสียงจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนบริษัท รปภ. ทันที เพราะการทำสัญญาทำแบบระยะยาว 1 ปี ถ้าหากมีการประกาศขึ้นค่าแรงระหว่างทาง จะทำให้กลายเป็นต้นทุนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทันที และเป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้บริษัทไม่กล้าขยายการรับงานมากนัก เพราะเคยมีบทเรียนจากการขึ้นค่าแรงของรัฐ แต่ไม่สามารถไปขอขึ้นค่าแรงจากลูกค้าโครงการได้ทันที เฉลี่ยกว่าจะปรับค่าแรงตามสัญญาได้ต้องดีเลย์ออกไปถึง 3-4 เดือน

“นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดูแลผู้ใช้แรงงาน เป็นเรื่องที่เราเห็นด้วย เพียงแต่วิธีการอยากจะขอให้รัฐบาลมีการประกาศล่วงหน้าให้รู้ตัวอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป เพื่อให้สามารถปรับปรุงสัญญา หรือวางแผนธุรกิจรับมือได้โดยไม่ขาดทุน ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยได้หาเสียงค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 600 บาท ลองคำนวณแล้วจะทำให้ต้นทุนค่าจ้าง รปภ. ดีดขึ้นไปถึงหัวละ 50,000 บาท จุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ถัวเฉลี่ย เพื่อลดการใช้ รปภ. แต่ยังได้ประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน หรือดีกว่าเดิม”

ลูกค้าแบรนด์ดังเข้าคิวใช้บริการ

ด้าน “ธำรงค์พล” CEO LSS กล่าวว่า ฐานลูกค้าในมือรับบริหารจัดการโครงการแบรนด์ดังทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ คอนโดฯ ในเครือ LPN, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ศุภาลัย ฯลฯ โรงเรียนนานาชาติ รพ.สินแพทย์ รพ.กรุงเทพ รพ.วิมุต รพ.กรุงเทพพัทยา โรงแรมโอเรียนเต็ล โครงการเรสซิเดนซ์ใกล้ไอคอนสยาม โชว์รูมรถเบนซ์ที่พัทยา คลับเฮาส์ราชพฤกษ์ของสภากาชาดไทย สถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย ล่าสุดที่เพิ่งหมดสัญญาเมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คือศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“สถานทูตซาอุดีอาระเบียก็เลือกใช้บริการแม่บ้านของ LSS กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเน้นกลุ่ม B+ ซึ่งสามารถจ่ายในราคาสูงขึ้น การทำงาน 2 กะ แต่ละกะจะมีพนักงาน รปภ. ค่าจ้างต่อหัวเฉลี่ย 24,000-26,000 บาท กับหัวหน้ากะ 1 คน เฉลี่ย 28,000-29,000 บาท สัญญาจ้างจะสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับรีไควร์เมนต์หรือความต้องการงานบริการ รปภ. ซึ่งจะคิดต้นทุนแล้วบวกเข้าไปในสัญญา หลัก ๆ เราไม่ใช่ธุรกิจ รปภ. ที่รับแค่ค่าแรง แต่ทำแวลูแอดเดดอื่น ๆ เช่น ศูนย์บริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือ EOC ตั้งอยู่ที่ลุมพินีทาวเวอร์ ทำงาน 24 ชั่วโมง”

ยกตัวอย่างการเผชิญเหตุ ครอบคลุมงานไฟไหม้ น้ำท่วม ทั้งท่วมจากภายนอกหรืออุทกภัย ท่วมจากภายในโครงการที่มีน้ำรั่ว เหตุจลาจล มีทีมแบ็กกราวนด์จากสายช่าง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต้องตัดไฟก่อน ทำซีเควนซ์ยังไงให้เกิดผลกระทบกับผู้อาศัยให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่าช่วง Recovery State ล่าสุด มีเหตุไฟไหม้ห้องชุดในโครงการหนึ่ง ภายใน 3 วันลูกค้าสามารถย้ายกลับเข้าไปอยู่ห้องชุดได้แล้ว เพราะทีม LSS สามารถทำข้อเสนอได้เลยว่าความเสียหายต้องซ่อมแซมปรับปรุงอะไรบ้าง ทาสี ติดตั้งวอลเปเปอร์ เป็นต้น

“ธุรกิจ รปภ. มีปัญหาขาดแคลนกำลังคน การนำเทคโนโลยี Smart Security มาใช้ช่วยทดแทนการใช้แรงงานคน 20-30% ผลประโยชน์ของลูกค้าช่วยให้นิติบุคคลหรือเจ้าของอาคารประหยัดค่าส่วนกลางได้ โดยระบบรักษาความปลอดภัยยังเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เราไม่ได้เป็นผู้นำเทคโนโลยี แต่เราเป็นคนนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับอาคารที่เราดูแล ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน LSS เรามีมอตโต้ ลูกค้าจะต้องปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน” คำกล่าวของ CEO LSS

อ่านข่าวต้นฉบับ: LPP แจ้งเกิดธุรกิจ รปภ. ‘LSS’ ปักธง Smart Security บ้าน-คอนโดฯ-โครงการ